ภาวะคลอดก่อนกำหนด

10 เมษายน 2566
 ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง

ทารกคลอดก่อนกำหนด คือ การคลอดทารกก่อน หรืออายุครรภ์เท่ากับ 37 สัปดาห์เป็นทารกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค และการเสียชีวิต เนื่องจากอวัยวะระบบต่างๆ ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทารกยิ่งคลอดก่อนกำหนดเร็วก็ยิ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะในระบบต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น จากสถิติพบว่าอัตราการเกิดของเด็กไทยในปัจจุบันประมาณ 800,000 คน ต่อปี มีอัตราการเกิดของเด็กคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 8 - 10 ต่อปี ส่งผลให้อวัยวะของทารกพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ด้วยเหตุนี้ทารกคลอดก่อนกำหนดจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ และพยาบาลที่มีความชำนาญเฉพาะทาง เพื่อช่วยให้ทารกรอดชีวิต และมีความพิการหลงเหลือน้อยที่สุดสาเหตุการคลอดก่อนกำหนดมีได้หลายปัจจัย เช่น
ปัจจัยจากแม่ อาจมาจากการทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียด มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือมีภาวะติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ ติดเชื้อในช่องคลอดทางเดินปัสสาวะ หรือแม่มีภาวะน้ำเดินก็จะเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
ปัจจัยของลูก เด็กในครรภ์มีความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด เช่น โรคทางพันธุกรรม มีภาวะรกเสื่อม เด็กเติบโตไม่ได้จึงกระตุ้นให้มีการคลอด นอกจากนี้ ยังมีทารกแฝดบางรายที่อาจมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน
ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทารกคลอดก่อนกำหนด
ปัญหาของทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีมากมาย เช่น มีน้ำหนักตัวน้อย การทำงานของปอดไม่สมบูรณ์ทำให้มีปัญหาการหายใจที่ผิดปกติตามมา มีภาวะเลือดออกในสมอง ส่งผลต่อระบบสมองที่อาจมีความพิการเกิดการติดเชื้อตามมาได้ง่าย ภาวะลำไส้อักเสบ
การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด
เมื่อสูตินรีแพทย์เห็นแล้วว่าไม่สามารถจะหยุด ยับยั้งให้เด็กคลอดภายในกำหนดได้ แพทย์จะฉีดยาให้กับมารดาเพื่อกระตุ้นการทำงานของปอดให้กับทารกในครรภ์ และวางแผนการรักษาร่วมกับทีมกุมารแพทย์ หลังคลอดกุมารแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และประเมินอาการของทารก ในกรณีที่ทารกมีภาวะหายใจลำบากจาการขาดสารลดแรงตึงผิว แพทย์จะพิจารณาให้สารลดแรงตึงผิวแก่ทารก เพื่อสามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ทีมแพทย์ และพยาบาลจะคอยดูแลอาการ และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างใกล้ชิด จนกระทั่งทารกมีความพร้อม สามารถหายใจได้เอง ไม่หอบ น้ำหนักตัวดีขึ้น สามารถดูดกลืนเองได้ดี ออกจากตู้อบสู่อุณหภูมิตามปกติได้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน คุณแม่ฝึกเลี้ยงทารกจนมั่นใจว่าสามารถกลับไปดูแลที่บ้านได้ และมีการนัดตรวจร่างกาย ทุก 1 - 2 สัปดาห์ในช่วงแรก เพื่อติดตาม และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

 

ข้อมูลไฟล์ที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!