5 ข้อต้องรู้เพื่อดูแลเด็กเล็กให้ห่างไกล COVID-19

8 มกราคม 2564
 ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง

1. ความอันตรายของโรค COVID-19 ในเด็ก

เป็นความโชคดีที่ความรุนแรงของโรค COVID-19 ในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยพบว่าในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีมีอัตราการเสียชีวิตไม่ถึง 1% ของผู้ป่วย และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักจะเป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอด โรคมะเร็งเป็นต้น แต่ยังวางใจ 100% ไม่ได้ เพราะ กลุ่มเด็กที่ยังเล็กมาก ๆ เช่น ทารก ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรง ซึ่งความอันตรายของโรคคืออาการที่ทำให้ปอดบวมรุนแรง ขาดออกซิเจนหายใจลำบาก จนต้องเข้า ICU และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่อระบบอื่นของร่างกาย เช่น ช็อก ตับอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

2. อาการของการติดเชื้อ COVID-19 ในเด็ก

โดยทั่วๆ ไป ไข้หวัดธรรมดา เชื้อไวรัสมักจะติดอยู่แค่ทางเดินหายส่วนบน ทำให้มีไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ จาม คัดจมูก แต่เชื้อไวรัสโคโรนาของโรค COVID-19 ค่อนข้างใกล้เคียงกับไวรัส RSV ในเด็กเล็ก คือ เชื้อไวรัสมักจะเดินทางลงไปที่ทางเดินหายใจส่วนล่างส่งผลทำให้หลอดลมอักเสบ ปอดบวม ดังนั้นเด็ก ๆ ก็จะมีไข้ตัวร้อนเจ็บคอ อาจจะมีหรือไม่มีน้ำมูก คัดจมูก แต่จะมีอาการไอแห้ง ๆ ไอเยอะ ไอรุนแรง ซึ่งแสดงถึงพยาธิภาพที่หลอดลมและปอด อาจเกิดปอดบวม และหายใจล้มเหลวได้เช่นกัน ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่เด็กจะมีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา อาจมีบางรายที่มีปอดบวมอักเสบ แต่มักไม่รุนแรงและสามารถรักษาหายได้โดยเร็ว แตกต่างกับผู้ใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการปอดบวมขั้นรุนแรง มักจะรักษาหายได้ช้า และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่า

3. การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาในเด็ก

การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาจะเหมือนไข้หวัด โดยเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ (droplet) เช่น น้ำลาย เสมหะ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถแพร่เชื้อได้เมื่อมีอาการไอ จาม หรือพูดคุยอยู่ในระยะที่ใกล้เคียงกัน แล้วมีน้ำลายกระเด็นใส่หรือเป็นละอองฝอยลอยอยู่ในอากาศ รวมถึงการใช้ภาชนะร่วมกัน รับประทานอาหารร่วมกันโดยไม่มีช้อนส่วนตัวซึ่งเป็นช้อนสำหรับตักอาหาร ซึ่งเชื้อไวรัสนั้นสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายของเด็ก ๆ ได้ ช่องทาง คือ

1) ตา ซึ่งเด็ก ๆ อาจไปจับสิ่งของใดที่ติดเชื้อแล้วนำมาขยี้ตา

2) จมูก โดยพฤติกรรมเด็กส่วนใหญ่จะชอบแคะ จับ ขยี้จมูก

3) ปาก โดยเด็กเล็ก ๆ จะชอบนำมือเอาไปในปาก หรืออมของเล่นต่าง ๆ ที่วางไว้ในบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส หรือแม้แต่การใช้ภาชนะร่วมกันกับผู้ใหญ่ก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรค COVID-19 ให้เด็กได้

ในบางสภาวะ เช่น การพ่นยาในรพ. การไอที่แรงมาก ๆ พบว่าเชื้อสามารถฟุ้งลอยอยู่ในอากาศ (airborneในระยะ 1-2 เมตรได้ ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ

4. รักษาได้อย่างไรบ้าง

การรักษาโรค COVID-19 เป็นการรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้ เช็ดตัวเพื่อลดไข้ ระวังไม่ให้ไข้สูงและชัก หรือการกินยาแก้ไอละลายเสมหะ เป็นต้น ซึ่งพบว่าเด็กที่เป็นโรค COVID-19 จะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดาที่ไม่รุนแรง แต่ในกรณีของคนที่มีอาการรุนแรง จะใช้ออกซิเจนในการช่วยเหลือ และพ่นยาเมื่อจำเป็น นอกจากนี้หากเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า ขวบ เด็กที่มีโรคประจำตัว หรือรายที่มีอาการปอดบวมอักเสบ และเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงที่จะมีความรุนแรงข้อใดข้อหนึ่ง แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาจำเพาะ ซึ่งจะใช้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาฆ่าเชื้อ ตามแนวทางการปฏิบัติของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก

 5. ดูแลเด็กอย่างไรให้ห่างไกลโรค COVID-19

สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของสุขอนามัยของทุกคนในครอบครัว ซึ่งต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ภายในบ้านก่อน โดยลดความเสี่ยงต่อการติดโรคด้วยการงดออกไปในสถานที่ชุมชน แต่หากจำเป็นต้องออกไป ควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง และมี Social Distancing กับผู้คน โดยเว้นระยะห่าง 1-เมตรเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมูก น้ำลายกระเด็นใส่ นอกจากนี้ยังควรงดการใช้ภาชนะร่วมกันภายในบ้าน และที่สำคัญผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กรู้จักดูแลตัวเอง โดยสอนให้เด็ก ๆ มีความเข้าใจว่า ทุกครั้งที่จะสัมผัส ตา จมูก ปาก จะต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลก่อน

ข้อมูลไฟล์ที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!